
สรุปสาระจากเสวนา Medical AI ก้าวสำคัญสู่การพัฒนาการแพทย์แห่งอนาคต
วงการสาธารณสุขไทยกำลังก้าวสู่ยุคใหม่ของการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) อย่างเต็มรูปแบบ สะท้อนจากงานเปิดตัว “แพลตฟอร์มข้อมูลกลางทางการแพทย์ (Medical AI Data Platform)” ที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เดินหน้าขับเคลื่อนการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในภาคสาธารณสุข โดยมีนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวถึงนโยบาย อว. for AI และเป็นสักขีพยานในการประกาศความร่วมมือกับพันธมิตรทางการแพทย์ Medical AI Consortium เปิดตัว “แพลตฟอร์มข้อมูลกลางทางการแพทย์ (Medical AI Data Platform)” ที่มุ่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศข้อมูลที่เข้มแข็ง รองรับการพัฒนานวัตกรรม AI ทางการแพทย์เพื่อคนไทย
ภายในงาน ยังมีเสวนา “Medical AI ก้าวสำคัญสู่การพัฒนาการแพทย์แห่งอนาคต” ซึ่งเป็นการรวมตัวของผู้นำจากหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง เพื่อฉายภาพวิสัยทัศน์ ความท้าทาย ซึ่งมี 5 มุมมองสำคัญที่จะขับเคลื่อน Medical AI ของไทยไว้อย่างน่าสนใจ
[1] พลังข้อมูล หัวใจขับเคลื่อน AI การแพทย์ไทย
ศาสตราจารย์ นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ฉายภาพความสำคัญของ AI ในทางการแพทย์ โดยชี้ให้เห็นว่า AI มีองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วนคือ ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และ Big Data แม้ไทยอาจยังตามหลังด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ แต่ไทยเป็นเจ้าของข้อมูล “ศักยภาพของ Big Data จะเป็นของประเทศไทยได้นั้น ขึ้นอยู่กับว่าเราสามารถจัดระเบียบข้อมูลของเราได้ดีเพียงใด ซึ่งจะนำไปสู่การใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง” ศาสตราจารย์ นพ.ปิยะมิตร กล่าว ตัวอย่างความสำเร็จที่ชัดเจน คือ AI อ่านผลภาพเอกซเรย์ทรวงอก หรือ Inspectra CXR ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลพัฒนาร่วมกับสตาร์ทอัปไทยอย่าง Perceptra ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจาก อย. ซึ่งปัจจุบันมีโรงพยาบาลใช้งานแล้วกว่า 90 แห่ง
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ นพ.ปิยะมิตร ยังกล่าวถึง การใช้เทคนิค Retrieval-Augmented Generation (RAG) เพื่อให้ AI เรียนรู้และตอบคำถามจากชุดข้อมูลเฉพาะของประเทศไทย เพื่อให้ AI สามารถเข้าถึงและใช้ข้อมูลที่อยู่ในบริบทของประเทศไทยได้อย่างแม่นยำ โดยเฉพาะการรวมข้อมูลจาก 3 กองทุนสุขภาพหลักของไทย ได้แก่ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ รวมถึงระบบเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ Health Link แอปพลิเคชันหมอพร้อม และข้อมูลจีโนมิกส์จากโครงการ Genomics Thailand จะเป็นฐานข้อมูลอันทรงพลังสำหรับ AI การแพทย์ของไทย
[2] AI ช่วยแพทย์คัดกรอง เพิ่มประสิทธิภาพ ลดเหลื่อมล้ำการเข้าถึงบริการรักษา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข นำเสนอมุมมองของผู้ใช้งาน AI ด้านการแพทย์ โดยเน้นย้ำบทบาทของกรมการแพทย์ในการนำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริงและเท่าเทียมกัน โดยกล่าวว่า “สร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงการรักษา ถือเป็นภารกิจหลักของกรมการแพทย์” และยกตัวอย่างความสำเร็จของการใช้ AI คัดกรองภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา ซึ่งริเริ่มโดยโรงพยาบาลราชวิถีร่วมกับ Google AI ตั้งแต่ปี 2018 โดยไทยพบผู้ป่วยเบาหวานกว่า 6 ล้านคน โดยร้อยละ 15-20% เสี่ยงเกิดภาวะดังกล่าว ในขณะที่ประเทศไทยมีจักษุแพทย์เฉพาะทางด้านจอประสาทตาประมาณ 250 คน และส่วนใหญ่ปฏิบัติงานในกรุงเทพฯ สวนทางกับการกระจายตัวของผู้ป่วยทั่วประเทศ โดย AI มีความไว (Sensitivity) ในการตรวจคัดกรองสูงถึง 97 เทียบกับ 74 ของการคัดกรองโดยแพทย์ และมีความแม่นยำ (Specificity) สูงถึงร้อยละ 96 ดังนั้นการใช้ AI ช่วยคัดกรองภาวะดังกล่าว ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนและกระจายตัวที่ไม่สมดุลของจักษุแพทย์ได้
[3] แรงหนุนจากนโยบายและทุน: ขับเคลื่อน Medical AI สู่ S-Curve ใหม่
ความสำเร็จของ Medical AI ประเทศไทยจะเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดระบบนิเวศที่สนับสนุน โดย ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ซึ่งบริหารกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) ได้ให้มุมมองเชิงนโยบายว่า Medical AI สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติอย่างยิ่ง โดยเฉพาะโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งการแพทย์เป็น 1 ใน 4 สาขาหลัก และมีศักยภาพสูงที่จะเป็น S-Curve ใหม่ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยท่ามกลางตลาด AI โลกที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยเน้นย้ำถึงความได้เปรียบของไทยในด้านข้อมูลทางคลินิก (Clinical Data) และข้อมูลจีโนมิกส์ ประกอบกับโครงสร้างพื้นฐานอย่าง LANTA Supercomputer ของ สวทช. และบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจ แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ ความร่วมมือ “หากเราสามารถรวมพลังและใช้ข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายเดียวกันของประเทศได้ จะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน” ศาสตราจารย์ สมปอง กล่าว
ศาสตราจารย์ ดร. สมปอง ได้อธิบายบทบาทของ กองทุน ววน. โดยเปรียบเปรยว่าเป็นเสมือน “กองทุนที่ 4” จากแตกต่าง จาก 3 กองทุนสุขภาพหลักซึ่งเน้นการเป็นแหล่งข้อมูล แต่ กองทุน ววน.จะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนากำลังคน และการสร้างแนวทางประยุกต์ใช้ใหม่ ๆ เพื่อเติมเต็มและสร้างความสมบูรณ์ให้กับระบบนิเวศ Medical AI ของประเทศ นอกจากนี้ ยังมุ่งสนับสนุนเป้าหมายรูปธรรม เช่น การผลิตเครื่องมือแพทย์และบริการทางการแพทย์เพื่อทดแทนการนำเข้า และมีการหารือกับ สปสช. เพื่อผลักดันให้การวินิจฉัยและรักษาโรคด้วย AI เบื้องต้นราว 10 กลุ่มโรคให้สามารถเบิกจ่ายได้ในอนาคต
[4] บพค. กับการสร้าง Ecosystem AI การแพทย์
ดร.ณิรวัฒน์ ธรรมจักร์ ผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) กล่าวถึงการสนับสนุนของ บพค. ที่มีต่อโครงการ Medical AI Consortium มาแล้วกว่า 90 ล้านบาท ครอบคลุมทั้งการพัฒนาแพลตฟอร์ม บุคลากร ต้นแบบ AI Model และกรอบธรรมาภิบาลข้อมูล (Data Governance) เพื่อสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นว่าแพลตฟอร์มนี้มีความปลอดภัย โดยวิสัยทัศน์ของ บพค. สนับสนุน 4 ภารกิจหลักตามที่ได้รับมอบหมายจากการปฏิรูประบบ ววน. คือ การพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง, การสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานด้าน ววน., งานวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) และการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาและการวิจัย โดย มองว่าการพัฒนาเทคโนโลยี AI ต้องมองไปข้างหน้าและจำเป็นต้องมีการคาดการณ์อนาคตเพื่อเตรียมความพร้อม แม้ AI จะพัฒนาไปเร็วเพียงใด แต่ก็ยังต้องการมนุษย์ในการตรวจสอบ (Validate) และตัดสินใจขั้นสุดท้าย ดร.ณิรวัฒน์ เปรียบการขับเคลื่อน Medical AI เหมือนการปีนเขาเอเวอเรสต์ที่ต้องมีหมุดหมาย (Milestone) เล็ก ๆ ระหว่างทาง โดยเน้นความสำคัญของการสร้างความร่วมมือให้กว้างขวางขึ้น การสร้างมาตรฐานข้อมูล และการพัฒนาระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เอื้อต่อการนำ AI ไปใช้ประโยชน์จริง
[5] รากฐานทางเทคโนโลยี: เน้นสร้างเครื่องมือให้ “คนไทย” ประยุกต์ใช้ AI ได้จริง
ในฐานะหน่วยงานวิจัยและพัฒนาชั้นนำของประเทศ สวทช. ตระหนักถึงความสำคัญของการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำ AI มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. ได้ให้มุมมองว่า AI จะฉลาดและมีประสิทธิภาพได้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณข้อมูลเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับตรรกะและ วิธีการสอน ให้ AI เรียนรู้และมองเห็นสิ่งที่สำคัญในข้อมูลนั้น เฉกเช่นเดียวกับที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญใช้ประสบการณ์ในการวินิจฉัยโรค
ภายใต้วิสัยทัศน์นี้ สวทช. โดย เนคเทค จึงได้จับมือกับพันธมิตรสำคัญ ทั้งกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และภาคีเครือข่าย Medical AI Consortium ริเริ่มและพัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลกลางทางการแพทย์ขึ้น ปัจจุบันรวมภาพถ่ายทางการแพทย์แล้วกว่า 2.2 ล้านภาพ ครอบคลุม 8 กลุ่มโรคสำคัญ เช่น โรคทรวงอก มะเร็งเต้านม โรคตา โรคช่องท้อง โรคผิวหนัง โรคหลอดเลือดสมอง และโรคกระดูกพรุน เป็นต้น
หัวใจสำคัญที่ สวทช. มุ่งมั่นพัฒนา ไม่ใช่เพียงแค่การสร้างคลังข้อมูล แต่คือการสร้างเครื่องมือที่จะปลดล็อกให้นักวิจัยและบุคลากรทางการแพทย์ไทยสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรม AI ทางการแพทย์ได้ด้วยตนเอง ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีราคาสูงจากต่างประเทศ สวทช. โดย เนคเทค ได้พัฒนาเครื่องมือสำคัญ ได้แก่ “RadiiView” ซอฟต์แวร์และคลาวด์แอปพลิเคชันสำหรับกำกับข้อมูล (Annotation) หรือการระบุลักษณะสำคัญบนภาพทางการแพทย์ได้อย่างแม่นยำ เพื่อสร้างชุดข้อมูลคุณภาพสูงสำหรับสอน AI “NomadML” แพลตฟอร์มที่ช่วยให้นักวิจัยพัฒนาโมเดล AI ได้ง่ายขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเขียนโค้ดโปรแกรมที่ซับซ้อน และสามารถเชื่อมต่อกับ LANTA Supercomputer เพื่อใช้พลังการประมวลผลสมรรถนะสูงของ สวทช. ในการเร่งกระบวนการพัฒนาและฝึกสอนโมเดล AI ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น
ศ.ดร.ชูกิจ เน้นย้ำว่า ยุทธศาสตร์ของไทยไม่ใช่การแข่งขันพัฒนา AI แต่คือการนำ AI มาประยุกต์ใช้อย่างชาญฉลาดในบริบทที่ไทยมีจุดแข็ง ซึ่งก็คือ ข้อมูลทางการแพทย์ และความรู้ความเชี่ยวชาญของบุคลากร การมีแพลตฟอร์มกลางที่ทำให้ข้อมูลจากโรงพยาบาลต่าง ๆ มาแชร์และเรียนรู้ร่วมกันจะทำให้ AI ที่พัฒนาขึ้นมีความสามารถสูง
“ศักยภาพของ AI ทางการแพทย์ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การวิเคราะห์ภาพถ่ายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพในองค์รวม เพื่อสร้างแบบจำลองดิจิทัลเสมือนของตัวบุคคล (Digital Twin) ที่สามารถให้คำแนะนำด้านสุขภาพเฉพาะบุคคลได้อย่างแม่นยำ ซึ่ง Medical AI Data Platform นี้จะเป็นฐานข้อมูลสำคัญสำหรับการพัฒนาต่อยอดในอนาคต” ศ.ดร.ชูกิจ กล่าวทิ้งท้าย
การเสวนาและการเปิดตัวแพลตฟอร์มครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัวและความมุ่งมั่นจากทุกภาคส่วนในการผลักดัน Medical AI ของไทย การเกิดขึ้นของ Medical AI Data Platform และความร่วมมือภายใต้ Medical AI Consortium ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะทลายกำแพงด้านข้อมูล สร้างมาตรฐาน และส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรม AI ทางการแพทย์อย่างก้าวกระโดด ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาด้านสาธารณสุขและเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ของประเทศ แม้จะมีความท้าทายรออยู่ แต่ด้วยวิสัยทัศน์ร่วมกัน การสนับสนุนเชิงนโยบายและงบประมาณ รวมถึงความร่วมมือแบบ “ร่วมแชร์ เชื่อม ใช้” เชื่อมั่นได้ว่า Medical AI จะไม่ได้เป็นเพียงทางเลือก แต่คืออนาคตของการแพทย์ไทย ที่จะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และสร้างความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้อย่างยั่งยืน
Medical AI Consortium ยังคงเปิดรับและขอเชิญชวนหน่วยงานทางการแพทย์ สถาบันการศึกษา นักวิจัย และภาคเอกชน มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศนี้ เพื่อต่อยอดการพัฒนา AI ทางการแพทย์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
สำหรับหน่วยงานที่สนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกหรือพันธมิตรของ Medical AI Consortium หรือการใช้งาน Medical AI Data Platform สามารถกรอกรายละเอียดในแบบฟอร์มเพื่อการติดต่อกลับได้ที่ https://www.nstda.or.th/r/Gf8vZ